บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พฤติกรรมและความเครียดของสุกรหย่านม

อาหารและการให้อาหาร
ความสมบูรณ์ของสุกรหย่านมมักขึ้นกับน้ำหนักหย่านม แนะนำว่าลูกสุกรหย่านมที่อายุ 20 วัน ควรมีน้ำหนักตัว
ไม่ต่ำกว่า 5.5 กิโลกรัม (5.5-6.4 กิโลกรัม) เรื่องคุณภาพของอาหารลูกสุกรอนุบาลคงไม่กล่าวไว้ในที่นี้ เนื่องจาก มักแนะนำว่าควรให้อาหารเลียรางกับสุกรหย่านมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากหย่านมแล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารสุกร
อนุบาล จริงๆ เพื่อลดความจำเป็นที่ลูกสุกรจะต้องปรับตัวในด้านอาหารลง ดังนั้นในบ้านเราเชื่อว่าการฝึกให้ลูกสุกร กินอาหารเลียรางในคอกคลอดได้มากๆ จะเป็นผลดีที่ทำให้ระบบการย่อยของลูกสุกรมีการเตรียมตัว และสามารถปรับตัว ได้ดีเมื่อหย่านม อย่างไรก็ตามในระบบที่หย่านม 21 วันหรือน้อยกว่า น้ำนมแม่ยังเป็นอาหารหลักของลูกสุกรในคอก
คลอด ดังนั้นคุณภาพของอาหารเลียรางที่สูง ๆ เช่น มีโปรตีนนมสูงมีน้ำตาลแลกโตส เป็นแหล่งพลังงาน และความ ต่อเนื่องในการให้อาหารเลียรางกับลูกสุกรหลังหย่านมเป็นสิ่งจำเป็น
และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง นอกจากเรื่องคุณภาพของอาหารแล้ว รูปแบบและวิธีการให้อาหาร ก็ควรต่อเนื่องด้วย เป็นการแบ่งเบาความจำเป็นที่สุกรจะต้องปรับตัวหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กันในวันแรกหลังหย่านม จึงแนะนำว่าในช่วง
วันแรก ๆ จำเป็นต้องให้อาหารบ่อยครั้ง (5-6 ครั้ง) คล้ายกับจำนวนครั้งที่ลูกสุกรดูดนมแม่ หลังจากนั้นค่อย ๆ ลดจำนวนมื้ออาหารลง ส่วนอาหารแข็งถ้าไม่สามารถทำให้เป็นอาหารเหลวและอุ่นได้ (ซึ่งอาจทำได้โดยผสมอาหารเลียรางกับน้ำนมหรือน้ำเกลือแร่ จุดประสงค์เพื่อต้องการให้สุกรเคยชินและกินอาหาร
ได้มากขึ้น) ก็ต้องเอาใจใส่ให้ทีละน้อย ๆ และบ่อยครั้ง มีภาชนะเปิดใส่น้ำสะอาด เอาไว้ให้สุกรหลังหย่านมกิน อย่างน้อยในวันแรกหรือวันที่สองตลอดเวลา เนื่องจากลูกสุกรหลังหย่านมใหม่ยังไม่เคยชินกับการดูดน้ำจากจุ๊บน้ำ ส่วนจุ๊บน้ำก็ควรมีน้ำที่มีอุณหภูมิไม่ร้อนและมีอัตราการไหลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ไหลแรงเกินไป
(ไม่เกิน 1 ลิตรต่อนาที) อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารที่สุกใหม่เสมอ พื้นที่รางอาหารต้องเพียงพอ
ซึ่งจะเป็นการลดการต่อสู้ เพื่อแย่งชิงอาหารกันด้วย


ที่อยู่อาศัย
เพื่อป้องกันความเครียดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่และเพื่อนฝูง การจัดการหลายอย่างถูกแนะนำเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ได้มากที่สุด สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก คือ การหย่านม ซึ่งต้องย้ายลูกออกจากแม่และต้องย้ายโรงเรือน ดังนั้นในเรื่องที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยแล้ว ถ้าสามารถย้ายลูกสุกรทั้งครอกไปยังคอกสุกรอนุบาล ที่ได้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วทิ้งว่างไว้นาน
1 สัปดาห์ ที่มีพื้นที่เพียงพอ (3-3.5 ตารางเมตรต่อสุกรหนึ่งครอกอยู่ได้ 4-6 สัปดาห์) และถ้าเป็นไปได้โรงเรือนอนุบาลควรมีการจัดการแบบ เข้าหมดออกหมด คือมีการกั้นห้องไว้ให้มีจำนวนห้องเพียงพอที่ลูกสุกรที่หย่านมสัปดาห์เดียวกันสามารถอยู่ด้วยกันได้ตลอดช่วงที่เป็น
สุกรอนุบาล การคัดขนาดลูกสุกรอาจจะกระทำเมื่อลูกสุกรสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่แล้ว
(ประมาณ 1 สัปดาห์) ลักษณะการจัดการเช่นนี้นอกจากจะเป็นการลดความเครียดกับสุกรหลังหย่านมแล้ว ยังเป็นการตัดวงจรของเชื้อโรคที่อาจถ่ายทอดจากสุกรอายุมากไปสู่สุกรอายุน้อยได้


ความร้อนในตัวสุกร
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับที่ 2 ว่าสุกรจะรู้สึกร้อนหรือหนาวขึ้นอยู่กับขนาดตัวของสุกร อุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ความร้อนของโรงเรือน ความเร็วลม ชนิดของพื้นคอก ปริมาณและคุณภาพของอาหารที่สุกรกิน หรือแม้แต่ความหนาแน่นใช้ การสังเกตพฤติกรรมของลูกสุกรจะเป็นดัชนีที่ใช้เฝ้าระวังได้ชัดเจนที่สุด หากลูกสุกรนอนสุ่มกันแสดงว่าอุณหภูมิของโรงเรือนต่ำเกินไป ในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิพอเหมาะ ลูกสุกรจะนอนเอาสีข้างลงกระจายอยู่ใกล้ ๆ กันแต่ไม่ทับหรือสุ่มกัน โดยทั่วไปลูกสุกรอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังหย่านมจำเป็นต้องได้รับความอบอุ่น ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องปิดโรงเรือนมิดชิดเพื่อป้องกันลมโกรก และอาจจำเป็นต้องใช้กล่องกกหรือปูกระสอบป่านช่วย ส่วนในลูกสุกรที่อายุมากขึ้นเช่นในสัปดาห์ที่ 2 หรือน้ำหนักตัว 8-10 กิโลกรัมจะสามารถปรับตัวและการกินได้จะสูงในอากาศที่เย็นกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากในฟาร์มแต่ละฟาร์มอาจมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตัวสุกรได้แตกต่างกันได้ สุกรส่วนหนึ่งอาจสามารถปรับตัวได้เร็วหรือสภาพแวดล้อมบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเราตั้งโปรแกรมการจัดการที่ตายตัว อาจมีผลทำให้สุกรบางส่วนที่ชอบอากาศเย็นกว่าจะรู้สึกร้อนทำให้การกินอาหารได้ลดลง และจะมีสุกรอีกส่วนหนึ่งที่ชอบอากาศอุ่นกว่าจะเย็น ก็ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย จึงอยากแนะนำให้สังเกตพฤติกรรมของสุกรให้ใกล้ชิดดีกว่าจะวางเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น