บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พฤติกรรมของเสือโคร่ง


พฤติกรรมของเสือโคร่ง

พฤติกรรมในการกำหนดอาณาเขต
เสือโคร่งจะทำการกำหนดอาณาเขตโดยการข่วนรอยไว้ตามต้นไม้ การพ่นน้ำปัสสาวะก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อบอกอาณาเขต เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว เสือโคร่งไม่ใช่สัตว์สังคม มันจะอยู่อาศัยและล่าเหยื่อในอาณาบริเวณของมัน ถ้าเสือโคร่งตัวอื่นเข้ามาในอาณาเขตเมื่อดมกลิ่นก็จะรับรู้ และมักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และการต่อสู้ นอกจากนี้ปัสสาวะของเสือโคร่งตัวเมียยังสามารถบอกให้รู้ว่า เสือตัวเมียตัวนั้นอยู่ในระยะที่จะผสมพันธุ์ได้หรือไม่อีกด้วย


พฤติกรรมการผสมพันธุ์
ในช่วงฤดูการผสมพันธุ์เสือโคร่งจะอาศัยอยู่เป็นคู่ และเสือโคร่งเพศเมียที่เป็นสัด จะส่งเสียงร้องเป็นช่วงๆ เสือโคร่งตัวผู้จะดมกลิ่นน้ำปัสสาวะของเสือโคร่งตัวเมียที่อยู่ในละแวกนั้น หลังจากนั้นจะเริ่มติดตาม, เข้าหา และแสดงความสนใจเสือตัวเมีย โดยจะดมอวัยวะเพศ, ไซร์ตามซอกคอ หรือสีข้าง เสือโคร่งตัวผู้จะสังเกตุอาการของเสือโคร่งตัวเมียไปด้วยว่าจะยอมรับการเข้าหา หรือมีท่าที ตอบสนองหรือไม่ เมื่อตัวเมียยอมรับตัวผู้แล้ว จะยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับและทำการผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ เสือโคร่งตัวเมียจะแว้งกัดหรือตะปบเสือโคร่งตัวผู้


พฤติกรรมการเลี้ยงลูก
หลังจากที่ตั้งท้องได้ประมาณ 95 - 105 วันแล้ว ตัวเมียจะคลอดลูก เมื่อคลอดออกมา แม่จะเลียลูกจนเมือกที่หุ้มตัวแห้ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นระบบหมุนเวียนในร่างกายของลูกด้วย ลูกเสือจะกินน้ำนมแม่ตั้งแต่กำเนิด แม้ว่าจะมองไม่เห็นในช่วง 7-10 วันแรก แม่เสือจะเริ่มหัดให้ลูกเสือกินเนื้อเมื่อลูกเสือมีอายุ ประมาณ 2 เดือน และลูกเสือจะหย่านมที่ประมาณ 5 เดือน ในช่วง 2 เดือนแรกแม่เสือจะลำบากที่สุดเนื่องจาก ต้องออกไปล่าเหยื่อและกลับมาเลี้ยงลูกเสือให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพราะลูกอ่อนไม่สามารถตามแม่เสือออกไปล่าเหยื่อได้ ลูกเสือโคร่งจะใช้ชีวิตในการเรียนรู้กับแม่เกือบ 2 ปี จึงแยกออกไปล่าเหยื่อโดยลำพัง


พฤติกรรมการล่าเหยื่อ
โดยปกติแล้วเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่จะออกล่าเหยื่อก็ต่อเมื่อมันหิว ในป่าบริเวณที่มีประชากรของสัตว์กินพืชมาก จะมีประชากรของเสือมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามระบบนิเวศน์นั่นเอง เสือโคร่งจะ ออกล่าเหยื่อที่มันประมาณได้ว่ามันสามารถล่าได้ คือจะไม่ล่าเหยื่อที่ใหญ่กว่าตัวมันเอง เนื่องจากมีความเสี่ยง และอาจไม่ประสบความสำเร็จในการล่า
ขั้นตอนการล่าเหยื่อของเสือโคร่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนคือ
การซุ่มดู และย่องเข้าหาเหยื่อ
การวิ่งไล่ และกระโจนเข้าใส่เหยื่อ
การตะปบเหยื่อ
การกัดเหยื่อ

เสือโคร่งจะทำการงับลำคอของเหยื่อ ไม่นิยมงับหลังคอเนื่องจากเหยื่อส่วนใหญ่ของเสือจะเป็นสัตว์ที่มีเขา เช่น กวางชนิดต่างๆ หลังจากทำการล่าได้แล้ว เสือโคร่งจะเริ่มทำการกินเหยื่อ โดยเสือโคร่งมักจะกินเนื้อ บริเวณสะโพกก่อน หากกินไม่หมดเสือโคร่งจะทำการกลบเหยื่อ หรืออาจร้องเรียกเสือโคร่งตัวอื่นมากินต่อไป


พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
เมื่อเสือโคร่งซึ่งเป็นสัตว์โดดเดี่ยวถูกนำมาเลี้ยงรวมกัน จะเกิดกระบวนการจัดลำดับชั้นทางสังคมขึ้น คือการต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ในฝูง หากมีการแยกกัน 2 ฝูง เมื่อนำมาใส่ในพื้นที่เดียวกัน ก็จะมีการยกพวกเข้าต่อสู้กันเป็นต้น ในการเลี้ยงดูโดยมนุษย์ พฤติกรรมในการล่าเหยื่อของเสือโคร่งจะลดลง แต่หากทำการกระตุ้นพฤติกรรมก็จะสามารถแสดงออกมาโดยสัญชาติญาณการล่าได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น